กิจกรรมประจำวัน

การกายภาพบำบัดเบื้องต้นของทางศูนย์โกลเด้นไลฟ์ เนอร์สซิ่งโฮม แบ่งได้เป็น 2 ชนิด

 

กายภาพบำบัดเบื้องต้น

เป็นการทำกายภาพโดยการวางแผนการกายภาพเป็นรายบุคคลโดยนักกายภาพบำบัดประจำศูนย์ ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายและสภาวะของผู้เข้ารับบริการ อาทิเช่น

  • เน้นการกายภาพฟื้นฟู
  • ฝึกลุก – นั่ง ฝึกเดิน
  • ฝึกการกลืน การดื่มน้ำ การทาน
  • ฝึก เสริมสร้าง กล้ามเนื้อมัดเล็กในการหยิบ จับ สิ่งของต่างๆ การเขียนหนังสือ
  • การทำกายภาพประจำวันเพื่อป้องกันข้อติด
  • การกายภาพตามแผนที่แพทย์กำหนด

โดยนักกายภาพจะเป็นผู้ประเมินและปรับปรุงแผนตามสัปดาห์

กิจกรรมบำบัด

คือการนำกิจกรรมที่มีจุดมุ่งหมายรวมทั้งวิธีการและอุปกรณ์ที่เหมาะสมมาใช้ในการบำบัด ตามความสามารถของบุคคล ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและทักษะความสามารถของการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต ได้แก่ การดูแลตนเอง การศึกษา การทำงาน การใช้เวลาว่าง การพักผ่อน และการเข้าสังคม

กิจกรรมบำบัดที่ทางศูนย์โกลเด้นไลฟ์ เนอร์สซิ่งโฮม มีดังต่อไปนี้

การเล่นหมากรุก หมากฮอส บริดจ์

เพื่อส่งเสริมการรับรู้ กฎกติกาต่างๆ การเข้าสังคม

การต่อเลโก้ จิ๊กซอว์

ฝึกความคิดสร้างสรรค์ ความภูมิใจในตนเอง

กิจกรรมการวาดภาพ ระบายสี เขียนหนังสือ ทำงานประดิษฐ์ 

ฝึกทักษะการใช้มือ กล้ามเนื้อเล็ก ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

 

 

ดนตรีบำบัด (Music Therapy)

ระบบดนตรีบำบัด (Music Therapy) กับศูนย์โกลเด้นไลฟ์ เนอร์สซิ่งโฮม

ขณะนี้ทางศูนย์ โกลเด้นไลฟ์ เนอร์สซิ่งโฮม ได้ติดตั้งระบบเครื่องเสียง เพื่อนำระบบดนตรีบำบัดมาใช้กับคุณตาคุณยาย โดย ลักษณะจะเป็นการเปิดดนตรีที่เป็นเสียงธรรมชาติต่างๆ เช่น เสียง นก สัตว์ ต้นไม้ เสียงน้ำ หรือเสียงฝนตกต่างๆ โดยจะสลับกับการเปิดเพลงธรรมะ หรือบทสวดต่างๆ เบาๆ สลับกัน เพื่อให้คุณตาคุณยายที่อยู่ในศูนย์ได้ผ่อนคลาย และมีอารมณ์ที่ดี สดชื่น สบาย ไม่เครียด

ซึ่งระบบดนตรีบำบัดนี้ เป็นระบบที่ได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ และได้รับการพิสูจน์และยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าใช้ได้ผลจริง ในแง่ของการบำบัดโรค และบรรเทาอาการเจ็บปวดต่างๆ มีผลทำให้ผู้ที่ได้รับการบำบัดรู้สึกผ่อนคลายและสบาย

จุดประสงค์ของการนำดนตรีมาใช้

1. เพื่อทำให้ความรู้สึกเจ็บปวดลดลง มีความทนทานต่อความเจ็บปวดได้มากขึ้น มีความวิตกกังวลความกลัวลดลง ใช้ยาน้อยลง

2. ทำให้ผู้ป่วยได้ผ่อนคลายจิตใจ มีความสุขเพลิดเพลิน ลืมความทุกข์ ความเจ็บปวดชั่วขณะ

3. ทำให้ผู้ป่วยมีทัศนคติที่ดีต่อทีมงานผู้รักษา แสดงออกในด้านดี

4. ช่วยทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้มากขึ้น

จุดประสงค์ของการนำดนตรีมาใช้ ก็เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความเจ็บปวด ไปสู่ความสุขสบายเพลิดเพลิน เนื่องจากดนตรีที่เลือกสรรแล้ว โดยเฉพาะจังหวะ ความเร็ว-ช้า ระดับของเสียงและความดังจะมีอิทธิพล ทำให้เกิดการผ่อนคลาย ทางร่างกาย จิตใจ อันมีผลทำให้ความวิตกกังวล ความกลัวลดลงและยังสามารถปิดกั้นวงจรของการรับรู้ความเจ็บปวด ทำให้ความเจ็บปวดลดลงได้ และดนตรียังเพิ่มแรงจูงใจทำให้อยากเคลื่อนไหว ให้เกิดผลดีในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องมี early ambulation เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนเนื่องจากความเจ็บปวด ทำให้จำกัดความเคลื่อนไหว ในการนำดนตรีมาใช้ลดความเจ็บปวดนี้จำเป็นต้องใช้ร่วมกับ Relaxation technique โดยเฉพาะจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย มีความสุขสบายมากขึ้น แสดงออกต่อผู้รักษาด้วยดี มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทีมงานผู้รักษาเป็นการปรับสภาพอารมณ์และพฤติกรรมไปใน ด้านดีส่งผลให้การรักษาประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น

ขั้นตอนการใช้ดนตรีบำบัดเพื่อระงับอาการปวด

1. ต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วยก่อน ผู้ป่วยควรมีความพร้อมที่จะใช้วิธีดนตรีบำบัด มีบางครั้งที่พบว่าในยามปกติ ผู้ป่วยมีประวัติรักเสียงเพลงและร่วมกิจกรรมด้านดนตรี แต่เมื่อมีความเจ็บป่วยผู้ป่วยกลับไม่ค่อยตอบสนองต่อดนตรีเลย หรือปฏิเสธที่จะฟังดนตรี จึงควรหลีกเลี่ยงวิธีนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ชอบ

2. การสำรวจผู้ป่วยในเรื่องประสบการณ์ด้านดนตรี, ความสามารถด้านดนตรี ประเภทเพลงที่ผู้ป่วยชอบ เครื่องดนตรีหรือเพลงที่ผู้ป่วยคุ้นเคยซึ่งจะช่วยให้การจัดกิจกรรมดนตรีง่าย ขึ้น และเป็นการสร้างความรู้สึกอบอุ่นประทับใจแก่ผู้ป่วย

3. จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่สบายที่สุด เจ็บปวดน้อยที่สุด โดยแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ใส่สบายไม่อึดอัดใช้หมอน ผ้าห่ม ฯลฯ ช่วยพยุงปรับให้อยู่ในท่าที่พอดี

4. ควรอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก อุณหภูมิเย็นสบาย ไม่มีเสียงรบกวน ปรับแสงสีในห้องให้เย็นตา สะอาด เรียบร้อย สวยงาม

5. เลือกใช้เครื่องเสียงที่มีคุณภาพ ที่ผู้ป่วยจะสามารถใช้ได้เองด้วยตนเองตามสะดวกและปลอดภัย

6. จัดเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือดูแล สอน ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจผู้ป่วย ขณะที่ใช้วิธีการดนตรีบำบัดร่วมกับเทคนิคการผ่อนคลาย

วิธีการทางดนตรีบำบัดมีหลายวิธี อาทิ เช่น

– การฟังดนตรี

– การร้อง

– การเล่นดนตรี

– การเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับดนตรี

การฟังดนตรี เป็นวิธีที่นิยมมากที่ สุด เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบาย ผ่อนคลายง่ายที่สุด โดยให้ฟังจากแผ่นเสียง เทป วิทยุ หรือชมการแสดงคอนเสิร์ต โดยจัดให้ฟังในเวลาที่ยาลดความเจ็บปวดกำลังออกฤทธิ์ และใช้เทคนิคการผ่อนคลายร่วมด้วย เวลาที่ใช้ในการฟัง หรือจำนวนครั้งที่ฟังในแต่ละวันขึ้นกับวัตถุประสงค์ของการรักษา และความพร้อมของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย เช่นอาจให้ฟังตามอาการหรือฟังเป็น Background เบาๆเกือบทั้งวัน, Herth (1978) จัดดนตรีให้ผู้ป่วยฟัง 5 นาทีก่อนที่จะมี activity ที่จะก่อให้เกิดความเจ็บปวด, Zimmerman และคณะ (1989) จัดให้ฟังดนตรีลดความเจ็บปวดในผู้ป่วยมะเร็งครั้งละ 30 นาที ในขณะที่ program ของผู้ป่วย oncology ใน ICU นิยมนำเพลงมาเปิดให้ผู้ป่วยฟัง 30 นาทีทุกเช้า-เย็น

อย่างไรก็ตาม ดนตรีสามารถช่วยลดความเจ็บปวดได้ถึงจุดหนึ่ง และเป็นเวลาชั่วคราว จึงจำเป็นต้องฟังตามอาการเป็นประจำ ซึ่งการฟังเพลงร่วมกับการใช้เทคนิคผ่อนคลายเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมเนื่องจาก เป็นการลงทุนที่ต่ำ แต่ได้ประโยชน์สูงมาก ไม่มีพิษภัยและใช้ได้อย่างอิสระได้มีผู้เขียนแนะนำวิธีการใช้เทคนิคผ่อนคลาย ไว้หลายวิธี แต่สามารถสรุปได้อย่างคร่าวๆ ว่าวิธีการดังกล่าว คือ ให้ผู้ป่วยหลับตาสงบนิ่ง ปล่อยร่างกายทุกส่วนให้ผ่อนคลาย ไม่เกร็ง ให้เกิดความรู้สึกคลายตัวของกล้ามเนื้อตั้งแต่เท้าจนถึงใบหน้า พยายามควบคุมลมหายใจ ให้ราบเรียบ ไม่มีเสียงดัง ในขณะหายใจเข้า-ออก ลึกๆ-ยาวๆ อย่างช้าๆ นับ 1-2-3 ขณะหายใจเข้า หยุดนิ่งและหายใจออก ทำในจังหวะสม่ำเสมอ อาจให้นึกถึงภาพที่ทำให้มีความสุข คำพูดที่ดีๆ ที่ช่วยให้เกิดความสงบ เจ้าหน้าที่อยู่ใกล้ๆ คอยช่วยสอนแนะนำและเตือนให้ผ่อนคลาย มีรายงานว่าเทคนิคการผ่อนคลายจะช่วยลดความเครียดและลดความเจ็บปวดได้ในขณะ ที่ใช้เทคนิคการผ่อนคลาย อาจมีประคบความร้อน หรือความเย็นตามความเหมาะสม หรือช่วยบีบนวดเพื่อคลายปวดได้อีกด้วย และที่สำคัญคืออย่าลืมใช้ดนตรีร่วมด้วยจะสามารถเบี่ยงเบนความสนใจทำให้ผ่อน คลายได้มากขึ้น

นอกจากการให้ผู้ป่วยฟังดนตรีแล้วยังสามารถให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมดนตรีอื่นๆ ได้ตามความสามารถของแต่ละคน เช่น การเปล่งเสียงร้องฮัมตามเพลง เพื่อคลายความเครียด ความวิตกกังวล การเคาะจังหวะการตบมือ เพื่อสร้างสมาธิ การเล่นดนตรี อาทิเช่นเครื่องเป่า เพื่อระบายความรู้สึกทำให้สบายขึ้นหรือการร่วมกิจกรรมดนตรีเป็นกลุ่ม เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ป่วยและผู้รักษา เป็นต้น โดยเฉพาะผู้รักษาควรเรียนรู้วิธีการใช้เสียงพูดที่นุ่มนวล ราบเรียบไม่ดังมาก จะช่วยให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการฝึกยิ่งขึ้น

ลักษณะของดนตรีที่ใช้

1. ควรเป็นเพลงบรรเลง ไม่ควรมีเนื้อร้อง, มีเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงนก น้ำตก ฯลฯ

2. มีจังหวะที่ช้า มั่นคง สม่ำเสมอ ขนาดช้าถึงปานกลางประมาณ 70-80 ครั้ง/นาที

3. ทำนองราบเรียบ นุ่มนวล ผ่อนคลายสดชื่น สอดคล้อง

4. ระดับเสียงปานกลาง / ต่ำ

5. ความเข้มของเสียง ไม่ดังมาก ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของผู้ป่วย เนื่องจากความดังสามารถกระตุ้นให้มีความเจ็บปวดมากขึ้นได้

6. ประเภทของดนตรีที่นิยมใช้ อาทิ เช่น พิณ เปียโน กีต้าร์ วงออร์เคสตร้า แจ๊สแบบช้า นุ่มนวลPop Classic เป็นต้น

7. เป็นดนตรีที่ผู้ป่วยมีส่วนในการคัดเลือก และอาศัยความคุ้นเคย ความชอบของผู้ป่วยร่วมด้วย